เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ลาดตระเวนพบ พรานป่า ลอบชำแหละ ซากเสือโคร่ง 2 ตัว รอดจับกุมหวุดหวิด คาดเตรียมส่งขายนายทุน เวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สายตรวจ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ออกลาดตระเวนพบกลุ่มพรานป่า ขณะกำลังลักลอบชำแหละซากเสือโคร่ง 2 ตัว กลางป่าลึก บริเวณป่าห้วยปิล๊อก หมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ห่างจากในเขตชายแดนไทย-พม่า ประมาณ 3-4 กิโลเมตร
โดยการออกลาดตระเวนครั้งนี้เพื่อตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม 2565 หลังได้รับแจ้งจากสายข่าวว่าจะมีกลุ่มบุคคลเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ในที่เกิดเหตุได้ตรวจพบแคร่ร้านย่างเนื้อสัตว์ และซากเสือโคร่ง จำนวน 2 ตัว สันนิษฐานว่าเป็นเสือโคร่ง ออกหากินระหว่างชายแดนไทย – พม่า พร้อมอาวุธปืน จำนวน 4 กระบอก และอุปกรณ์การกระทำผิดอื่น ๆ รวม 29 รายการ โดยขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุม ปรากฎ หมานำทาง ได้ส่งเสียงร้องเห่าขึ้นก่อน ทำให้กลุ่มชายทั้ง 5 คน วิ่งหลบหนีเข้าไปในป่า รอดพ้นการจับกุมตัวไปได้อย่างหวุดหวิด
อย่างไรก็ตามได้มีการตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปิล๊อก เพื่อดำเนินคดีและสืบสวนสอบสวน ล่าตัวตัวผู้กระทำผิดต่อไป โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย “ทส.หนึ่งเดียว” และ “ทส.ยกกำลัง X” ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสั่งการ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการ ป้องกันและปราบปราม การบุกรุกทำลายป่าและล่าสัตว์ป่า อย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้คาดว่าซากเสือโคร่งดังกล่าว กลุ่มคนร้ายทำการชำแหละไว้ ก่อนจะส่งตัวให้กลุ่มนายทุนที่ต้องการนำไปประดับบารมี ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยจากนี้เจ้าหน้าที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลผืนป่าเพื่อปกป้องสัตว์ต่อไป
สำหรับ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่รับผิดชอบ เนื้อที่ทั้งหมด 772,214 ไร่ มีแนวเขตด้านตะวันตกติดชายแดนพม่าระยะทาง 152 กิโลเมตร
คปภ. เตือนจ้าง เด็กเอนติดโควิด หวังเคลมประกัน ผิดกฎหมาย
คปภ. เตือนกรณีจ้าง เด็กเอนติดโควิด หลังติดเชื้อตาม เพื่อเคลมประกัน ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เข้าข่ายทุจริต ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้ออกมากล่าวถึงกรณีที่มีเพจดังได้ออกมาเปิดเผยว่ามีการประกาศว่าจ้าง เด็กเอนฯ มาทำงาน แต่มีเงื่อนไขขอให้เด็กที่มาทำงานเป็นเด็กที่ป่วยเป็นโควิด-19 เนื่องจากลูกค้าต้องการเชื้อโควิดนั้น
ว่าการกระทำในลักษณะนี้ หากหวังเงินประกัน อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ส่งทีมสายกฎหมายและคดีเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบตัวผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้โพสต์ดังกล่าวได้มีการเอาประกันภัยโควิดกับบริษัทแห่งหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเร่งตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจะกระทำความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบัน อาจสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด หากเข้ากรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
รวมทั้ง หากเข้าลักษณะทุจริตก็อาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วย ซึ่งการนำเข้าข้อมูลผ่านสื่อสารสนเทศ สามารถตรวจสอบหมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ได้ และเมื่อทราบตัวผู้กระทำความผิด ก็จะสามารถทราบได้ว่าผู้กระทำจงใจกระทำความผิดเอง หรือเข้ามาพิมพ์ด้วยความคึกคะนอง หรือมีผู้ใช้ให้เข้ามาปล่อยข่าวให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย
สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยมีกลไกการป้องกันที่กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถกระทำได้ คือ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 โดยให้บริษัทมีระบบตรวจทานความถูกต้องของการรับประกันภัยและข้อมูลเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ ที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้
ส่วนในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย เจอ จ่าย จบ จะมีกำหนดเงื่อนไขทั่วไป “กรณีมีเหตุสงสัยว่าการเรียกร้องเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ ให้บริษัทฯ มีสิทธิตรวจสอบและขยายระยะเวลาการจ่ายออกไปตามความจำเป็นไม่เกิน 90 วัน” ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจ่ายเคลมเพราะบริษัทมีสิทธิอ้างเป็นเหตุใช้เวลาในการตรวจสอบ
ทั้งนี้ ฝากย้ำเตือนประชาชนว่ากรณีเมื่อทำประกันภัยแล้ว และเข้าไปที่เสี่ยงเพื่อหวังผลให้ติดเชื้อแล้วเคลมประกันหรือเอาตัวเองไปเสี่ยงรับเชื้อ เพื่อหวังเงินประกันภัย บริษัทอาจจะอ้างเหตุไม่จ่ายสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากเป็นกรณีมีการเจตนา จงใจ โดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากมีหลักฐาน และถ้าเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยจะมีความผิดทางอาญาด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท
Credit : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว | แต่งบ้านและสวน | พระเครื่อง | รีวิวกล้องถ่ายรูป